วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2551

ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้



ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะการละเล่นพื้นบ้าน
ภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดง






โนรา หรือ มโนราห์
โนรา เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่สืบทอดกันมานานและนิยมกันอย่างแพร่หลาย เป็นการละเล่นที่มีการร้องรำ บางส่วนเล่นเป็นเรื่องและแสดงตามคติความเชื่อที่เป็นพิธีกรรม โนรา เป็นศิลปะการละเล่นที่ได้รับความนิยมมากพอ ๆ กับหนังตะลุง เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญยิ่งของชาวใต้และภาคใต้ แม้ว่าปัจจุบันความนิยมโนราจะลดน้อยลง เนื่องจากมีสิ่งบันเทิงใหม่ ๆ เข้ามาแทนที่ แต่หากผู้เป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรมด้านนี้ได้ตระหนักถึงคุณค่า แล้วช่วยกันอนุรักษ์ และส่งเสริมให้ดำรงอยู่ โนราก็จะมีโอกาสทำหน้าที่ด้านพิธีกรรมและความบันเทิงให้แก่ชาวใต้ต่อไป



หนังตะลุง

คำว่า “ตะลุง” เป็นคำใหม่ สมัยก่อนชาวใต้เรียกหนังตะลุงว่า “หนัง” บ้าง “หนังควน” บ้าง เพิ่งเรียกว่าหนังตะลุง เมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 นี้เอง เพราะสมัยนั้น “หนัง” ของเมืองพัทลุงได้เข้าไปแสดงในกรุงเทพฯ ชาวกรุงเทพฯ เรียกหนังควนว่า “หนังพัทลุง” ต่อมาก็เพี้ยนมาเป็น “หนังทลุง” และเป็น “หนังตะลุง” ในที่สุด
หนังตะลุงส่วนใหญ่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์ สิ่งที่เด่นชัด คือ เมตตามหานิยม การป้องกัน ทำและแก้คุณไสยต่าง ๆ การหาฤกษ์หายาม การถือเคล็ด และคาถาอาคมต่าง ๆ การแสดงออกเกี่ยวกับไสยศาสตร์ของหนังตะลุงปรากฏให้เห็นทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกจากบ้าน การเดินทางเมื่อถึงสถานที่แสดง การขึ้นโรงขอขมา ขอที่ขอทางจากพระภูมิ ซึ่งทุกขั้นตอนจะมีการว่าคาถา ทำพิธีต่าง ๆ จนกระทั่งถึงคาถาเรียกคนดู เบิกตารูป คาถาเรียกเสียง นอกจากนี้ยังมีรูปศักดิ์ไว้บูชากันเภทภัยอีกด้วย
ปัจจุบัน แม้มีจะมีมหรสพให้ความบันเทิงแก่ชาวใต้มากมาย แต่หนังตะลุงยังคงครองความรู้สึกและฝังแน่นอยู่ในใจ แม้หนังตะลุงจะได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปบ้างตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงของหนังตะลุง คือ ความรับผิดชอบต่อสังคม จึงทำให้หนังตะลุงยังคงอยู่และได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของภาคใต้และของชาติ
รองเง็ง
รองเง็ง เป็นศิลปะเต้นรำพื้นเมืองของชาวไทยมุสลิม มีความสวยงามทั้งลีลาการเคลื่อนไหวของเท้า มือ ลำตัว และการแต่งกายคู่ชาย-หญิง ลักษณะการเต้นรองเง็ง ซึ่งดูคล้ายศิลปวัฒนธรรมตะวันตกนั้น มีผู้สันนิษฐานว่า ชาวโปรตุเกส หรือชาวสเปน ได้นำมาเผยแพร่ในประเทศชวา มลายู ก่อน โดยเฉพาะเมื่อถึงวันรื่นเริงปีใหม่ พวกฝรั่งเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน ชาวพื้นเมืองบังเกิดความสนใจและได้ฝึกซ้อมจนกระทั่งเกิดศิลปะรองเง็งหรือรองเกงขึ้น
ส่วนรองเง็งในประเทศไทย นิยมเต้นกันในบ้านขุนนางมุสลิมไทย หรือเจ้าเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สมัยก่อนการเปลี่ยนการปกครอง (พ.ศ.2439-2449) มีหญิงสาว ซึ่งเป็นข้าทาสบริวารฝึกรองเง็ง เพื่อไว้ต้อนรับแขกเหรื่อในงานรื่นเริง หรือพิธีต่าง ๆ เป็นประจำ ต่อมารองเง็งได้แพร่หลายสู่ชาวบ้านโดยอาศัยการแสดงของมะโย่ง หรือโนราไทยมุสลิม ซึ่งแสดงเป็นเรื่องและมีการพักครั้งละ 10-15 นาที ระหว่างที่พักจะสลับฉากด้วยรองเง็ง เมื่อดนตรีขึ้นเพลงรองเง็งฝ่ายหญิงที่แสดงมะโย่งจะลุกขึ้นเต้นจับคู่กันเอง เพื่อให้เกิดความสนุกสนานยิ่งขึ้น จึงเชิญชายผู้ชมเข้าร่วมด้วย ในที่สุดรองเง็งเป็นการเต้นรำที่ถูกอกถูกใจชาวบ้าน ภายหลังมีการจัดตั้งคณะรองเง็งรับจ้างเล่นตามงานต่าง ๆ แพร่หลายในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่จนปัจจุบัน
ที่มา : http://www.hatyaiwit.ac.th/soc/HY_story/g3.html

1 ความคิดเห็น:

tey aum กล่าวว่า...

ดิฉันชอบการละเล่นของภาคใต้มากค่ะ ดิฉันขอให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ประเพณีทุกประเพณีอยู่ตลอดไปค่ะ