วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2551

ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้



ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะการละเล่นพื้นบ้าน
ภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดง






โนรา หรือ มโนราห์
โนรา เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่สืบทอดกันมานานและนิยมกันอย่างแพร่หลาย เป็นการละเล่นที่มีการร้องรำ บางส่วนเล่นเป็นเรื่องและแสดงตามคติความเชื่อที่เป็นพิธีกรรม โนรา เป็นศิลปะการละเล่นที่ได้รับความนิยมมากพอ ๆ กับหนังตะลุง เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญยิ่งของชาวใต้และภาคใต้ แม้ว่าปัจจุบันความนิยมโนราจะลดน้อยลง เนื่องจากมีสิ่งบันเทิงใหม่ ๆ เข้ามาแทนที่ แต่หากผู้เป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรมด้านนี้ได้ตระหนักถึงคุณค่า แล้วช่วยกันอนุรักษ์ และส่งเสริมให้ดำรงอยู่ โนราก็จะมีโอกาสทำหน้าที่ด้านพิธีกรรมและความบันเทิงให้แก่ชาวใต้ต่อไป



หนังตะลุง

คำว่า “ตะลุง” เป็นคำใหม่ สมัยก่อนชาวใต้เรียกหนังตะลุงว่า “หนัง” บ้าง “หนังควน” บ้าง เพิ่งเรียกว่าหนังตะลุง เมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 นี้เอง เพราะสมัยนั้น “หนัง” ของเมืองพัทลุงได้เข้าไปแสดงในกรุงเทพฯ ชาวกรุงเทพฯ เรียกหนังควนว่า “หนังพัทลุง” ต่อมาก็เพี้ยนมาเป็น “หนังทลุง” และเป็น “หนังตะลุง” ในที่สุด
หนังตะลุงส่วนใหญ่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์ สิ่งที่เด่นชัด คือ เมตตามหานิยม การป้องกัน ทำและแก้คุณไสยต่าง ๆ การหาฤกษ์หายาม การถือเคล็ด และคาถาอาคมต่าง ๆ การแสดงออกเกี่ยวกับไสยศาสตร์ของหนังตะลุงปรากฏให้เห็นทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกจากบ้าน การเดินทางเมื่อถึงสถานที่แสดง การขึ้นโรงขอขมา ขอที่ขอทางจากพระภูมิ ซึ่งทุกขั้นตอนจะมีการว่าคาถา ทำพิธีต่าง ๆ จนกระทั่งถึงคาถาเรียกคนดู เบิกตารูป คาถาเรียกเสียง นอกจากนี้ยังมีรูปศักดิ์ไว้บูชากันเภทภัยอีกด้วย
ปัจจุบัน แม้มีจะมีมหรสพให้ความบันเทิงแก่ชาวใต้มากมาย แต่หนังตะลุงยังคงครองความรู้สึกและฝังแน่นอยู่ในใจ แม้หนังตะลุงจะได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปบ้างตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงของหนังตะลุง คือ ความรับผิดชอบต่อสังคม จึงทำให้หนังตะลุงยังคงอยู่และได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของภาคใต้และของชาติ
รองเง็ง
รองเง็ง เป็นศิลปะเต้นรำพื้นเมืองของชาวไทยมุสลิม มีความสวยงามทั้งลีลาการเคลื่อนไหวของเท้า มือ ลำตัว และการแต่งกายคู่ชาย-หญิง ลักษณะการเต้นรองเง็ง ซึ่งดูคล้ายศิลปวัฒนธรรมตะวันตกนั้น มีผู้สันนิษฐานว่า ชาวโปรตุเกส หรือชาวสเปน ได้นำมาเผยแพร่ในประเทศชวา มลายู ก่อน โดยเฉพาะเมื่อถึงวันรื่นเริงปีใหม่ พวกฝรั่งเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน ชาวพื้นเมืองบังเกิดความสนใจและได้ฝึกซ้อมจนกระทั่งเกิดศิลปะรองเง็งหรือรองเกงขึ้น
ส่วนรองเง็งในประเทศไทย นิยมเต้นกันในบ้านขุนนางมุสลิมไทย หรือเจ้าเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สมัยก่อนการเปลี่ยนการปกครอง (พ.ศ.2439-2449) มีหญิงสาว ซึ่งเป็นข้าทาสบริวารฝึกรองเง็ง เพื่อไว้ต้อนรับแขกเหรื่อในงานรื่นเริง หรือพิธีต่าง ๆ เป็นประจำ ต่อมารองเง็งได้แพร่หลายสู่ชาวบ้านโดยอาศัยการแสดงของมะโย่ง หรือโนราไทยมุสลิม ซึ่งแสดงเป็นเรื่องและมีการพักครั้งละ 10-15 นาที ระหว่างที่พักจะสลับฉากด้วยรองเง็ง เมื่อดนตรีขึ้นเพลงรองเง็งฝ่ายหญิงที่แสดงมะโย่งจะลุกขึ้นเต้นจับคู่กันเอง เพื่อให้เกิดความสนุกสนานยิ่งขึ้น จึงเชิญชายผู้ชมเข้าร่วมด้วย ในที่สุดรองเง็งเป็นการเต้นรำที่ถูกอกถูกใจชาวบ้าน ภายหลังมีการจัดตั้งคณะรองเง็งรับจ้างเล่นตามงานต่าง ๆ แพร่หลายในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่จนปัจจุบัน
ที่มา : http://www.hatyaiwit.ac.th/soc/HY_story/g3.html

ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคเหนือ




ประวัติโคมลอย
โคมลอย หรือบางท้องถิ่นเรียกว่า ว่าวหรือ โกม ยังแยกเป็นว่าวลม คือ ใช้ปล่อยในเวลากลางวัน และว่าวไฟใช้ปล่อยเวลากลางคืนโคมลอยมีลักษณะคล้ายลูกบอลลูน วัตถุประสงค์
ในการปล่อยโคมลอยโดยทั่วไปแล้วชาวบ้านจะมีความเชื่อกันคือ
1. เพื่อทำเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชาสังฆบูชา
2. เพื่อให้โคมนั้นช่วยนำเอาเคราะห์ร้าย ภัยพิบัติต่างๆ ให้หายไปจากหมู่บ้าน
3. เพื่อความสนุกสนานรื่นเริงในเทศกาลต่างๆ
วิธีทำ
การทำโคมลอยนั้นในแต่ละหมู่บ้านก็จะมีคนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำ การทำโคมจะ
ร่วมกันทั้งหมู่บ้าน เมื่อรู้ข่าวว่าจะมีการปล่อยโคม ก็จะประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ชาวบ้าน ต่างก็จะเอากระดาษที่เรียกกันว่า กระดาษว่าว มีสีต่างๆ กันหลายสีมารวมกันที่วัด ช่วยกันทำ โดยจะมีเจ้าตำรับหรือชาวบ้านจะเรียกว่า “เจ้าต่ำฮา” ได้กล่าวไว้ว่า จะใช้กระดาษเนื้อบาง ติดประกอบกันเป็นรูปทรงต่าง ๆ ส่วนใหญ่ทำเป็นลักษณะของถุงลมก้นใหญ่ วงปากแคบ กระดาษที่ใช้ทำนั้น จะใช้กระดาษสีเดียวหรือหลาย สี ก็ได้ แล้วแต่ความพอใจ ในสมัยก่อนนิยมมาช่วยกันทำที่วัด เพราะต้องใช้ สถานที่ทำเป็นลานกว้าง (เจ้าตำรา) เป็นคนคอยควบคุมดูแลให้เป็นไปตามตำรา ต่างก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือจนเสร็จ
วิธีปล่อย
เมื่อทำเสร็จแล้วก็ต้องรอฤกษ์ในการปล่อย จนกระทั่งได้เวลาเหมาะแล้วก็จะช่วยกัน บ้างก็ถือไม้ค้ำยันไว้ เพื่อให้โคมลอยทรงตัวได้ อีกพวกหนึ่งก็เอาเชื้อเพลิงซึ่งจะใช้ผ้าชุบน้ำมันยางเผาหรือใช้ชัน ซึ่งเรียกกันว่า ขี้ขะย้า เผาเพื่อให้เกิดควัน นอกนั้นอยู่รอบๆ โดยเฉพาะพวกเด็กๆ จะมาห้อมล้อมดูด้วยความสนใจ บางทีก็จะมีกองเชียร์คือ กลองซิ่งม่องตีกันอย่างสนุกสนาน เมื่ออัดควันเข้าเต็มที่แล้วก็จะปล่อยขึ้นไปก็จะมีเสียงประทัดดังสนั่นหวั่นไหว กลองเชียร์ก็เร่งเร้าทำนองกลองให้ตื่นเต้นเร้าใจ
การปล่อยว่าวหรือโคมลอยนี้ ชาวบ้านมีความเชื่อกันว่า เพื่อให้ว่าวได้นำเอาเคราะห์ร้ายภัยพิบัติต่าง ๆ ออกไปจากหมู่บ้าน ดังนั้นว่าวหรือโคมลอยที่ปล่อยขึ้นไป ถ้าไปตกในบ้านใครบ้านนั้นต้องจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์เพื่อล้างเสนียด จัญไรทั้งปวงออกไป นอกจากนี้ ยังถือกันว่าเป็นการทำเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และเพื่อความสนุกสนาน สร้างความสามัคคีในหมู่บ้านอีกด้วยในปัจจุบันนี้ ก็ได้เริ่มนำเอาโคมลอยมาปล่อยในประเพณีสำคัญ ๆ เช่น งานล่องสะเปา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา งานลอยกระทง และงานที่เป็นสิริมงคลและอวมงคล
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://school.obec.go.th/phifo/data/t8.htm
http://www.ms4lp.ac.th/phoompanya/balloon.htm

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2551

ภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวอีสาน


ภูมิปัญญา หมายถึง แบบแผนการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าแสดงถึงความเฉลียวฉลาดของบุคคลและสังคม ซึ่งได้สั่งสมและปฏิบัติสืบต่อกันมา ภูมิปัญญาจะเป็นทรัพยากรบุคคลหรือทรัพยากรความรู้ก็ได้ วันนี้จะเสนอภูมิปัญญาของฅนอีสานที่ล้ำยุคไปไกลทีเดียว เรื่องของกระติบข้าวและก่องข้าว ก่องข้าว และ กระติบข้าว เป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียวของชาวอีสาน ความแตกต่างของภาชนะทั้งสองอยู่ที่รูปทรง โดยก่องข้าวจะมีลักษณะคล้ายกระบุงมีฝาปิดและมีขาทำด้วยไม้เนื้อแข็งเป็นฐานแยกสี่แฉก ดังภาพด้านซ้ายมือ มีความแข็งแรงทนทานมากกว่า การสานด้วยไม้ไผ่มีความแน่นหนา เก็บขอบด้วยหวายโดยรอบ ส่วนกระติบข้าวนั้นพบเห็นได้ทั่วไปเป็นภาชนะสานทรงกลมมีฝาปิด ฐานของกระติบจะทำจากก้านตาลขดเป็นวงกลม มีมากมายหลายขนาด การสานทำได้ง่ายกว่าก่องข้าวเพราะใช้ตอกไม่ไผ่ที่มีความบางอ่อนตัว (ก่องข้าวใช้ตอกที่ทำจากติวไม้ไผ่ (ส่วนผิว) ซึ่งมีความแข็งจึงสานยากกว่า) ทำให้กระติบข้าวมีความแข็งแรงน้อยกว่าก่องข้าว
ก่องข้าวและกระติบข้าว เป็นภาชนะในการเก็บอาหารที่ทรงคุณค่ามากด้วยภูมิปัญญา เก็บความร้อนได้ดี ในขณะที่ยอมให้ไอน้ำระเหยออกไปได้ทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุอยู่ภายในกระติบ หรือก่องข้าวไม่แฉะด้วยไอน้ำ ต่างจากกระติกน้ำแข็ง (ที่ดูเหมือนจะถูกนำมาใช้แทน ก่องข้าว หรือ กระติบข้าว ของพ่อค้าแม่ค้าขายข้าวเหนียวส้มตำในเมืองใหญ่) ที่จำเป็นต้องใช้ผ้าขาวบางรองอีกที ก่อนบรรจุข้าวเหนียว ถึงกระนั้นเม็ดข้าวที่อยู่ชิดรอบขอบกระติกก็ยังคงแฉะอยู่ดี ภูมิปัญญานี้มีเคล็ดลับอยู่ที่การสานภาชนะเป็นสองชั้น ชั้นในสุดจะสานด้วยตอกให้มีความห่าง (ช่องว่างระหว่างตอกสาน) เล็กน้อยเพื่อให้ไอน้ำระเหยออกจากข้าวไปสู่ช่องว่างภายในก่องหรือกระติบข้าวได้ ในขณะที่ชั้นนอกสุดจะสานด้วยตอกที่มีความชิดแน่นหนากว่าเพื่อเก็บกักความร้อนไว้ ไอน้ำที่มีความร้อนอยู่ภายในช่องว่างนี้จะช่วยทำให้ข้าวเหนียวที่อยู่ภายในกระติบ หรือก่องข้าว ยังคงความร้อนได้อีกนาน โดยเมล็ดข้าวจะไม่มีไอน้ำเกาะจึงไม่แฉะเหมือนกับการบรรจุในภาชนะพลาสติกยุคใหม่


ที่มา : http://www.isangate.com/local/kratib_kao_01.html