วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

นวัตกรรมที่สนใจ

"ข้าวแกงทอด" ประเดิมรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย
โดย ผู้จัดการออนไลน์
7 ตุลาคม 2550 19:44 น.

นักวิจัย มก. เจ้าของผลงานข้าวแกงทอด คว้ารางวัลชนะเลิศนวัตกรรมข้าวไทยเป็นรายแรก เผยวิธีการไม่ยุ่งยาก สำคัญที่แนวคิด เตรียมรับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ ในงานตลาดนัดนวัตกรรม พร้อมด้วยรองชนะเลิศและรางวัลชมเชยอีก 4 ผลงาน มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่าวกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) แถลงข่าวเปิดตัวผลงานวิจัยข้าวที่คว้ารางวัล "รางวัลนวัตกรรมข้าวไทยเฉลิมพระเกียรติ 2007” (Rice Innovation Awards 2007) ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก เพื่อเทอดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุครบ 80 พรรษา มีผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลรวมแล้ว 5 ผลงาน จากทิ้งสิ้น 44 ผลงานที่เข้าร่วมประกวด โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ "ข้าวแกงทอดกึ่งสำเร็จรูป" ผลงานของนักวิจัย ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งจะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี น.ส.เพลินใจ ตังคณะกุล นักวิจัยของสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ม.เกษตรศาสตร์ หัวหน้าคณะพัฒนา "ข้าวแกงทอดกึ่งสำเร็จรูป" ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ เปิดเผยว่า ข้าวราดแกงเป็นอาหารที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน และมีคุณค่าทางโภชนาครบถ้วน เพราะประกอบไปด้วยสมุนไพรและเครื่องเทศหลากชนิด จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาข้าวราดแกงให้อยู่ในรูปแบบสากล สะดวกต่อการรับประทาน เก็บรักษาได้นาน แต่คุณค่าทางอาหารยังคมเดิม "ส่วนประกอบหลักที่ใช้ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิหรือข้าวเนียวที่สุกแล้ว ผัดรวมกับเครื่องแกงชนิดต่างๆ แล้วนำมาขึ้นรูปเป็นก้อนกลมแบน จากนั้นชุบด้วยแป้งและเกร็ดขนมปัง แล้วนำไปทอดที่ความร้อนสูง 150 องศาเซลเซียส เพียง 30 วินาที สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 3 เดือน โดยแช่แข็งที่ -18 องศาเซลเซียส และเพียงนำมาทอดให้เหลืองกรอบก็รับประทานได้เลย" น.ส.เพลินใจ อธิบาย ซึ่งคณะวิจัยใช้เวลาพัฒนาอยู่ 6 เดือน จึงได้เป็นผลิตภัณฑ์ข้าวแกงทอดทั้งหมด 4 สูตร ด้วยกัน คือ สูตรแกงเหลือง, แกงเขียวหวาน, แกงคั่ว และข้าวหมก ซึ่ง 3 สูตรแรกใช้ข้าวหอมมะลิ ส่วนสูตรหลังใช้ข้าวเหนียว ข้าวแกงทอดทั้ง 4 สูตร ในปริมาณ 100 กรัม ประกอบด้วย โปรตีน 5-9 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 70-80 กรัม, ไขมัน 13-17 กรัม, พลังงาน 454-474 กิโลแคลลอรี ทั้งยังมีวิตามินซี และสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งสามารถรับประทานเป็นอาหารหลักมื้อใดมื้อหนึ่งได้และยังได้คุณค่าทางอาหารครบถ้วน ทั้งนี้ นักวิจัยเตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ข้าวแกงทอดสู่ผู้ประกอบการ เพื่อนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไป

น.ส.เพลินใจ ตัวคณะกุล โชว์ผลงาน "ข้าวแกงทอดกึ่งสำเร็จรูป"

ส่วนรางวัลที่ 2 ตกเป็นของ "แป้งเด็กจากแป้งข้าวเจ้า" ผลงานนวัตกรรมของ ดร.วราทัศน์ วงศ์สุรไกร รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนอเชอร์แคร์ จำกัด ซึ่งพัฒนาแป้งฝุ่นจากแป้งข้าวเจ้าทดแทนการนำเข้าทัลคัมจากต่างประเทศ และไม่ก่ออาการแพ้กับผู้ใช้ ดร.วราทัศน์ อธิบายว่า แป้งฝุ่นที่ใช้กันอยู่ทั่วไปผลิตมาจากหินแร่ทัลคัม ซึ่งเป็นสารอนินทรีย์ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งบางคนใช้แล้วเกิดผดผื่นคัน และหากสูดดมหรือหายใจเอาฝุ่นแป้งเข้าไปสะสมในปอดมากขึ้น อาจก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจได้ และมีโอกาสทำให้ผู้หญิงเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ หากใช้ทาและสะสมบริเวณใต้ร่มผ้า "ยังไม่เคยพบว่ามีใครแพ้ข้าวเจ้า ขณะที่บางคนแพ้ข้าวโพดและข้าวสาลี อีกทั้งข้าวเจ้ายังมีขนาดเม็ดแป้งเล็กกว่าด้วย และเมื่อนำมาผ่านกระบวนการทำแป้งฝุ่น จะได้อนุภาคที่เล็กและเรียบลื่นกว่าแป้งฝุ่นจากทัลคัม ทั้งยังย่อยสลายได้โดยจุลินทรีย์ธรรมชาติ จึงไม่สะสมในร่างกายเป็นเวลานาน" ดร.วราทัศน์ อธิบาย และเตรียมวางจำหน่ายครั้งแรกในงานตลาดนัดนวัตกรรมระหว่างวันที่ 4-7 ต.ค. นี้


แป้งเด็กจากแป้งข้าวเจ้า ย่อยสลายได้ ไม่ตกค้างในปอด (ภาพจาก สนช.)

รางวัลที่ 3 ได้แก่ "เค้กไมโครเวฟจากข้าวไทย" ซึ่งผลิตจากแป้งข้าวเจ้าทดแทนการใช้แป้งสาลีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งนายวิเชียร วงษ์สุรไพฑูรย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เส้นหมี่เหรียญไทย จำกัด เจ้าของผลงาน กล่าวว่า ผู้ที่ไม่มีความรู้ในการทำเค้กก็สามารถทำได้หากมีเตาไมโครเวฟ และใช้เวลาเพียง 2 นาทีเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่มีอาการแพ้โปรตีนกลูเตนในแป้งสาลี แต่ไม่มีในแป้งข้าวเจ้า โดยเค้กแป้งข้าวเจ้านี้มีทั้งหมด 3 รสชาติ คือ วานิลลา กาแฟ และช็อคโกแลต


เค้กแป้งข้าวเจ้า ทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค

นอกจากนี้ยังมีรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล ได้แก่ "ข้าวน้ำนมพองกรอบ" ผลงานของนายปวริศ ทรงวิวัฒน์ จากบริษัท ริชชี่ คอนเฟ๊คชั่นเนอรี่ จำกัด ที่นำข้าวเจ้าระยะน้ำนมมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งยังช่วยให้ชาวนาลดความเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วมที่นาจนทำให้ข้าวที่กำลังออกรวงเสียหาย เพราะสามารถเก็บเกี่ยวข้าวในระยะน้ำนมมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้




ข้าวน้ำนมพองกรอบ ขนมขบเคี้ยวได้คุณค่าทางอาหาร

ส่วนผลงานสุดท้ายที่ได้รางวัลชมเชยเป็นของทีมนิสิตชั้นปี 4 จากภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย น.ส.สุพิชา กระจ่างเมธีกุล, น.ส.ฤทัยวรรณ ฤาชัย, น.ส.สุมาภรณ์ บุญหล้า, นายนที พฤฒิกุล และนายสิทธิพจน์ มาโนช ที่ได้รางวัลจากผลิตภัณฑ์ "ขนมเบื้องนนทรี" ที่พัฒนาขนมเบื้องที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าและข้าวกล้อง และพัฒนาไส้สูตรใหม่ 2 สูตร ได้แก่ ไส้ผักโขมและเห็ดนางฟ้า กับไส้ผลไม้รวม และกรรมวิธีการผลิตที่สามารถเก็บไว้ได้นาน 1 เดือน โดยที่ยังคงความกรอบอร่อยและคุณค่าทางอาหาร

นิสิตจาก ม.เกษตรฯ โชว์ขนมเบื้องนนทรีจากแป้งข้าวเจ้า

ทั้งนี้ เกณฑ์ในการตัดสินว่าผลงานใดควรได้รับรางวัล ประกอบด้วย ความแปลกใหม่ของผลิตภัณฑ์ ความคิดสร้างสรรค์ วิธีการผลิต ศักยภาพในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ และผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ โดยจะมีการมอบรางวัลอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 ต.ค. 2550 ภายในงานตลาดนัดนวัตกรรม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

0 ความคิดเห็น: